
คำศัพท์ด้านการพิมพ์ ก - ข ![]() คำศัพท์ด้านการพิมพ์ที่ใช้ในวงการ
กระดาษกล่อง (Box Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อไม้บด และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสม มีสีคล้ำไปทางเทาหรือน้ำตาล ผิวด้านหนึ่งมักจะประกบด้วยชั้นของกระดาษขาวซึ่งอาจมีผิวเคลือบมันหรือไม่ก็ได้เพื่อความสวยงามและพิมพ์ภาพลงไปได้ หากเป็นกระดาษไม่เคลือบ จะเรียก กระดาษกล่องขาว หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก กระดาษกล่องแป้ง น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 – 600 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ป้ายแข็ง ฯลฯ
กระดาษกันปลอม (Security Paper) เป็นกระดาษที่จัดทำขึ้นพิเศษ มีกรรมวิธีการทำหลายอย่างเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ใช้ทำสิ่งพิมพ์ที่ต้องการไม่ให้มีการลอกเลียนแบบ เช่น ธนบัตร แสตมป์ ฯลฯ
กระดาษการ์ด (Card Board) เป็นกระดาษที่มีความหนาและแข็งแรงประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านมักเป็นสีขาว แต่ก็มีการ์ดสีต่าง ๆ ให้เลือกใช้ บางชนิดมีผิวเคลือบมันเรียบ ซึ่งเรียก กระดาษอาร์ตการ์ด น้ำหนักกระดาษการ์ดอยู่ระหว่าง 110 – 400 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำปกหนังสือ บรรจุภัณฑ์ที่มีราคา เช่นกล่องเครื่องสำอาง
กระดาษแข็ง (Hard Board) เป็นกระดาษหลายชั้นแข็งหนาทำจากเยื่อไม้บดและเยื่อกระดาษเก่า มีผิวขรุขระสีคล้ำ มีคำเรียกกระดาษชนิดนี้อีกว่า กระดาษจั่วปัง น้ำหนักมีตั้งแต่ 430 กรัม/ตารางเมตรขึ้นไป ใช้ทำใส้ในของปกหนังสือ ฐานปฏิทินตั้งโต๊ะ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
กระดาษถนอมสายตา (Book Paper) เป็นกระดาษไม่เคลือบผิว บางที่มีสีออกนวลช่วยถนอมสายตา เหมาะสำหรับทำหนังสืออ่าน
กระดาษแบงค์ (Bank Paper) เป็นกระดาษบางไม่เคลือบผิว น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม/ตารางเมตร มีสีให้เลือกหลายสี ใช้สำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ ที่มีสำเนาหลายชั้น
กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint) เป็นกระดาษที่มีส่วนผสมเยื่อบดที่มีเส้นใยสั้น และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสมด้วย กระดาษปรู๊ฟมีน้ำหนักเพียง 40 – 52 กรัม/ตารางเมตร มีสีอมเหลือง ราคาไม่แพงแต่ความแข็งแรงน้อย เหมาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่ไม่ต้องการคุณภาพมาก
กระดาษฟอกขาว (Woodfree Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อที่ผลิตด้วยระบบเคมีและฟอกให้ขาว เป็นกระดาษที่มีคุณภาพและมีความหนาแน่นสูง การดูดซึมน้อย
กระดาษแฟนซี (Fancy Paper) เป็นคำเรียกโดยรวมสำหรับกระดาษที่มีรูปร่างลักษณะของเนื้อและผิวกระดาษที่ต่างจากกระดาษใช้งานทั่วไป บางชนิดมีการผสมเยื่อที่ต่างออกไป บางชนิดมีผิวเป็นลายตามแบบบนลูกกลิ้งหรือตะแกรงที่กดทับในขั้นตอนการผลิต มีสีสันให้เลือกหลากหลาย มีทั้งกระดาษบางและหนา ประโยชน์สำหรับกระดาษชนิดนี้สามารถนำไปใช้แทนกระดาษที่ใช้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่นามบัตร หัวจดหมาย ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์
กระดาษรีไซเคิล (Recycle Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อกระดาษที่ใช้แล้ว แต่อาจมีการผสมเยื่อใหม่บางส่วนเพื่อความแข็งแรง กระดาษชนิดมักมีสีไม่ขาวและมีสิ่งตกค้างปนอยู่ด้วย
กระดาษสติ๊กเกอร์ (Sticker Paper) เป็นกระดาษที่ด้านหลังเคลือบด้วยกาวเพื่อนำไปพิมพ์ภาพหรือตัวอักษรแล้วนำไปติดบนวัตถุอื่นก่อนใช้งานจะมีกระดาษรองด้านล่าง ต้องลอกกระดาษรองออกก่อนนำไปติด กระดาษสติ๊กเกอร์มีทั้งแบบเคลือบผิวด้านหน้าและไม่เคลือบผิว
กระดาษเหนียว/กระดาษคราฟท์ (Kraft Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อใยยาวผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงมีความเหนียวเป็นพิเศษ มีสีเป็นสีน้ำตาล น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 – 180 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของ ถุงกระดาษ
กระดาษอาร์ต (Art Paper) เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อที่ผลิตด้วยระบบเคมี และเคลือบผิวให้เรียบด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน การเคลือบอาจจะเคลือบมันเงาหรือแบบด้านก็ได้ มีสีขาว น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 – 160 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการความสวยงาม งานพิมพ์สอดสี เช่นแคตตาล็อก โบรชัวร์
กระดาษเอ็นซีอาร์ (Carbonless Paper) เป็นกระดาษบางมีสีต่าง ๆ ด้านหลังหากต้องการให้เกิดสีบนสำเนาแผ่นถัดไปเมื่อถูกขีดเขียนก็จะเคลือบด้วยน้ำยาใสชนิดหนึ่ง ส่วนด้านหน้าหากเป็นสำเนาแผ่นที่ต้องการให้เกิดสีเมื่อถูกขีดเขียนก็จะเคลือบด้วยสารใสอีกชนิดหนึ่ง
กริปเปอร์ (Gripper) หรือฟันจับ คือชิ้นส่วนในเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ทที่มีหน้าที่จับกระดาษแล้วพากระดาษวิ่งไปตามส่วนต่าง ๆ ของเครื่องพิมพ์ ฟันจับกระดาษมีหลายชุดส่งผ่านจากชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่งตั้งแต่ต้นจนพิมพ์เสร็จสมบูรณ์
กลับตีลังกา เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 1 ชุด พิมพ์ด้านหน้าแล้วกลับกระดาษสลับด้านฟันจับเป็นคนละข้างกับหน้าแรก วิธีนี้ทำให้แผ่นพิมพ์ 1 แผ่น ได้งาน 2 ชุดเหมือนกัน
กลับนอก เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 2 ชุด พิมพ์ด้านหน้า 1 ชุด พิมพ์ด้านหลังอีกหนึ่งชุด
กลับในตัว เป็นคำที่ใช้ในโรงพิมพ์สำหรับเรียก การพิมพ์ลงบนแผ่นพิมพ์ที่ใช้เพลท 1 ชุด พิมพ์ด้านหน้าแล้วกลับกระดาษสลับข้างพิมพ์โดยด้านฟันจับกระดาษยังคงเป็นข้างเดียวกันกับด้านแรก วิธีนี้ทำให้แผ่นพิมพ์ 1 แผ่น ได้งาน 2 ชุดเหมือนกัน
การพิมพ์ระบบออฟเซ็ท คือระบบการพิมพ์ที่ไม่ได้ถ่ายทอดภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ลงบนชิ้นงานโดยตรง แต่จะผ่านตัวกลางขั้นหนึ่งก่อน กล่าวคือ ภาพพิมพ์ของหมึกจะถูกถ่ายจากเพลทลงผ้ายางแล้วจึงส่งผ่านไปยังกระดาษ โรงพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องพิมพ์ออฟเซ็ทในการพิมพ์งาน
การแยกสี (Color Separation) คือการแยกสีจากงานอาร์ตเวิร์คสีออกมาเป็นภาพ 4 ภาพสำหรับแม่สีแต่ละสี เมื่อนำไปทำเป็นเพลทแม่พิมพ์ 4 แผ่น ทางโรงพิมพ์ก็สามารถใช้พิมพ์ด้วยแม่สีแต่ละสีซ้อนทับกันได้ภาพสอดสีเหมือนต้นฉบับ
ขัดเงา การทำให้ผิวกระดาษเรียบเงาวาวขึ้นโดยวิธีการขัดผิว
ขึ้นเส้น (Score) เป็นกรรมวิธีที่ทางโรงพิมพ์ทำเส้นลึกบนกระดาษ เพื่อสะดวกต่อการพับในแนวที่ต้องการและช่วยไม่ให้ผิวกระดาษ หมึกเกิดการแตกตามรอยพับ เข้าห่วงเหล็ก/พลาสติก เป็นวิธีการเข้าเล่มโดยใช้ห่วงเหล็ก/พลาสติกร้อยเข้าไปในรูด้านข้างด้านหนึ่งของหนังสือ/ปฏิทินที่เจาะเตรียมไว้ ทำให้แผ่นพิมพ์ไม่หลุดจากกัน
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |