
People > page 1 | ||
เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคลอย่างมืออาชีพ (1)เรียบเรียงโดย โรงพิมพ์สุพรีมพริ้นท์ ผู้ให้บริการการพิมพ์ครบวงจร บทนำ
การถ่ายภาพบุคคลเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง เป็นการจับกิริยาท่าทางและอารมณ์ในช่วงขณะหนึ่งของแบบมาลงบันทึกในภาพ การถ่ายภาพบุคคลไม่ใช่เพียงแต่การกดชัตเตอร์ (Shutter) เพื่อให้เกิดภาพผู้คนมาบันทึกไว้ กล่าวคือ ภาพบุคคลที่มีคุณค่ามักเกิดจากผลของการใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่ถูกต้อง (การตั้งค่าต่างๆ ของกล้อง การตั้งมุมกล้อง การจัดองค์ประกอบของภาพ แสงและเงา การจัดวางท่าทางของแบบ) และศิลปะในการบรรยายอารมณ์ออกมาจากภาพถ่ายนั้น เคล็ดลับการถ่ายภาพบุคคลให้เป็นงานศิลปะ 16 ประการ 1 มุ่งเน้นไปยังตัวแบบ
แบบผู้ชาย ผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ หรือแบบเป็นกลุ่มที่กำลังจะถ่ายบันทึกภาพเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพบุคคล ภาพที่สามารถแสดงท่าทางและความรู้สึกของแบบออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง ไม่ควรมีอาการเกร็งหรือแสดงออกถึงการตั้งใจเกินไป การทำให้ทั้งช่างภาพและแบบมีความผ่อนคลายเป็นกันเองจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ในทางปฏิบัติทั้งช่างภาพและแบบควรมีการติดต่อทำความรู้จักแนะนำตัวกันก่อนถึงเวลาถ่ายทำจริง ช่างภาพควรเล่าวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพ แนวการถ่ายภาพที่ต้องการ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เมื่อถึงช่วงเวลาการถ่ายบันทึกภาพ แบบซึ่งอยู่หน้ากล้องและแสงไฟที่จัดเตรียมไว้อาจมีความประหม่า เขินอาย ไม่เป็นธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของทางช่างภาพก็ต้องคอยหาเรื่องพูดคุยกับแบบให้เกิดความผ่อนคลาย และร่วมมือกับช่างภาพด้วยดี 2 หาสถานที่ถ่ายภาพที่เข้าเกณฑ์
สถานที่ถ่ายภาพมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์สุดท้ายของภาพที่จะปรากฏออกมา การถ่ายภาพนอกสถานที่โดยอาศัยแสงธรรมชาติจะเป็นวิธีการที่สะดวกง่ายดาย การหาสถานที่เช่นตามสวนสาธารณะ สวนหน้าบ้าน โดยใช้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฉากประกอบมักจะเป็นที่นิยม การถ่ายภาพนอกอาคารที่ต้องอาศัยแสงธรรมชาติจะเพิ่มความลำบากในการตระเตรียม ต้องประมาณการลมฟ้าอากาศที่จะเกิด ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม ควรเลือกเวลาที่เหมาะกับการถ่ายทำซึ่งมักจะเป็นช่วงเช้าหรือเย็น เป็นช่วงที่ทิศทางของแดดเฉียงๆ ไม่จ้ามาก อีกทั้งอากาศก็ไม่ร้อนจนเกินไป พยายามเลี่ยงไม่ให้ตัวแบบโดนแสงแดดโดยตรงซึ่งจะทำให้เกิดแสงเงาที่แข็งไม่นุ่มนวลบนผิวของแบบ ส่วนการถ่ายภาพในห้องสตูดิโอหรือในที่ร่มมีข้อดีคือสามารถควบคุมแสงสีได้ดีกว่า ก่อนการถ่ายทำจะมีการจัดแสงไฟจำพวกไฟเฟลช (Flashlights) จัดฉากหลังให้ได้บรรยากาศที่ต้องการ หาของมาประดับเพื่อเสริมบริเวณของภาพที่ว่างเปล่าและเป็นการเพิ่มเรื่องราวให้กับภาพ ทั้งนี้การเลือกหาสถานที่ที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดค่าใช่จ่ายและเวลาในการแก้ไขภาพในภายหลัง 3 กำกับการวางท่าทางของแบบ
ช่างภาพจะเป็นผู้เห็นผ่านกล้องว่าภาพถ่ายจะออกมาเป็นอย่างไร จึงมีหน้าที่เป็นผู้กำกับให้แบบแสดงท่าทางตามที่ได้วางแผนไว้ ระหว่างเวลาถ่ายทำ คอยเก็บบันทึกภาพไปเรื่อยๆ โดยให้แบบเปลี่ยนท่าทาง เงยหน้านิด บิดตัวหน่อย หันซ้ายขวา เอนตัว ฯลฯ ฝ่ายช่างภาพก็อาจเปลี่ยนตำแหน่งกล้องเดินก้าวไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ปรับค่าต่างๆ ในตัวกล้อง เพื่อให้ได้อิริยาบถและบรรยากาศต่างๆ กัน ทั้งนี้ช่างภาพต้องหมั่นคำนึงถึงทิศทางของแสง มุมกล้องและฉากหลังขณะที่ถ่ายภาพ การบันทึกภาพหลายๆ ภาพ แม้แต่ละภาพมีความแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ แต่จะช่วยในการคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดในภายหลัง บ่อยครั้งภาพที่ถ่ายเพิ่มเติมจากที่วางแผนไว้อาจถูกเลือกใช้งานก็เป็นได้ อนึ่งการวางแผนการถ่ายทำควรคิดออกแบบการวางท่าไว้หลายๆ ท่า เพราะช่วงเวลาถ่ายทำช่างภาพอาจคิดออกแบบท่าทางไม่ทัน ข้อแนะนำ: หมั่นสะสมภาพที่สร้างสรรค์ไว้ในอัลบั้มในมือถือ มีเวลาก็เปิดภาพมาชมบ่อยๆ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในการถ่ายภาพครั้งต่อๆ ไป อีกทั้งสามารถใช้ภาพเหล่านี้นำไปเสนอเป็นตัวอย่างและแนวคิดแก่ลูกค้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี 4 บันทึกภาพแบบไม่บอกกล่าว
การให้ตัวแบบตั้งท่าทางตามที่กำหนด บ่อยครั้งที่สีหน้าท่าทางของแบบจะออกมาไม่เป็นธรรมชาติ แบบจะมีอาการตั้งใจเกินไปบ้าง มีความเขินอายบ้าง มีอาการเกร็งไปบ้าง หรือรู้สึกอึดอัด แม้ว่าช่างภาพกับแบบจะมีความสนิทสนมเป็นกันเองแล้วก็ตาม ยิ่งการถ่ายภาพเด็กเล็ก การกำกับให้ทำท่าทางต่าง ๆ เป็นไปด้วยความลำบาก จึงควรหาวิธีให้ตัวแบบผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติ อาจจะชวนคุย เล่ามุกเล็กๆ น้อยๆ ให้ฟัง แล้วช่างภาพก็หาจังหวะถ่ายภาพเป็นระยะๆ โดยไม่แจ้งให้แบบทราบว่าจะทำการบันทึกภาพแล้ว เพื่อให้ได้ท่าทางตามที่ออกแบบไว้ อาจจะบอกเพียงให้แบบจัดท่าทาง แต่ตอนช่วงลั่นชัตเตอร์ (Shutter) ไม่มีการแจ้งให้แบบทราบ ด้วยวิธีการนี้จะสามารถได้ภาพที่ดูดีสมจริงเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ข้อแนะนำ: การใช้เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) ในการถ่ายจากระยะที่ไกลขึ้น จะช่วยลดอาการเขินอายและลดความกดดันได้ดี
|