องค์ประกอบและหลักการออกแบบสิ่งพิมพ์
สารบัญ: เกริ่นนำ • องค์ประกอบของการออกแบบ • หลักการออกแบบสิ่งพิมพ์
การออกแบบสิ่งพิมพ์นับเป็นสาขาหนึ่งของงานออกแบบ สามารถนำองค์ประกอบและหลักการออกแบบมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติม ซึ่งหลักและองค์ประกอบของการออกแบบมีดังต่อไปนี้
องค์ประกอบต่าง ๆ ของการออกแบบสามารถนำมาใช้ประกอบกันเมื่อเริ่มคิดแบบและวางเลย์เอาท์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้มีจุดยืนในการเริ่มต้นออกแบบ และเพิ่มความหลากหลายของงาน องค์ประกอบของการออกแบบได้แก่
เส้น (Line) เส้นคือการเชื่อมต่อของจุดสองจุดด้วยจุดหรือเครื่องหมายใด ๆ อย่างต่อเนื่องกัน เส้นมีหลายลักษณะ เช่น เส้นตรง เส้นโค้ง เส้นหนา เส้นบาง เส้นประ เป็นต้น
การใช้เส้นในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• เป็นเส้นกรอบของรูปภาพหรือข้อความ
• สร้างกริด (Grid)
• จัดข้อมูลให้เป็นระเบียบ
• เน้นส่วนสำคัญ
• เชื่อมส่วนประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
• สร้างกราฟหรือผังข้อมูล
• สร้างลวดลายด้วยเส้นสายรูปแบบต่าง ๆ
• นำสายตาผู้ดูไปยังจุดที่ต้องการ หรือสร้างความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว
• สร้างอารมณ์หรือโน้มนำความรู้สึก
รูปทรง (Shape) รูปทรงคือสิ่งที่มีความกว้างและความสูง มี 3 แบบคือ
1. รูปทรงเรขาคณิต ได้แก่ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม เป็นต้น
2. รูปทรงตามธรรมชาติ เช่น ภูเขา รูปร่างของคนและสัตว์ต่าง ๆ
3. รูปทรงดัดแปลงซึ่งได้มาจากการนำรูปร่างธรรมชาติมาทำให้เรียบง่ายขึ้น
การใช้รูปร่างในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• จัดวางข้อความอยู่ภายในกรอบที่มีรูปทรงแบบต่าง ๆ
• สร้างรูปแบบใหม่ ๆ
• ใส่สีเป็นรูปทรงต่าง ๆ บนข้อความที่ต้องการเน้นหรือดึงดูดความสนใจ
• ทำรูปทรงเฉพาะขึ้นแทนสัญลักษณ์ต่าง ๆ
• ตัดกรอบภาพเป็นรูปทรงที่แปลกออกไปเพื่อให้ดูน่าสนใจขึ้น
พื้นผิว (Texture) พื้นผิวคือสิ่งที่มองเห็นหรือสัมผัสได้บนผิวหน้าของงาน พื้นผิวที่ไม่เหมือนกันทำให้งานออกแบบเดียวกันดูแตกต่างกัน พื้นผิวจะเพิ่มมิติให้กับงาน และผู้ดูสามารถสัมผัสกับพื้นผิวที่นักออกแบบใช้กับงานได้
การใช้พื้นผิวในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• เพื่อกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก
• สร้างความแตกต่างเพื่อดึงดูดความสนใจ
• ทำให้งานมีเอกลักษณ์
• ลวงสายตาด้วยลวดลายและแสงเงาของพื้นผิว
• สร้างมิติและความลึก
ช่องไฟ (Space) ช่องไฟคือพื้นที่ว่างที่อยู่ระหว่างหรือโดยรอบวัตถุ หรือตัวอักษร ช่องไฟทำให้สิ่งที่นำมาใส่ไว้ในหน้างานแยกออกจากกัน หรือดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดการเน้น และเป็นจุดพักสายตา
การใช้ช่องไฟในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• ช่วยให้เรื่องราวในเลย์เอ้าท์ง่ายต่อการติดตาม
• ช่วยให้แต่ละองค์ประกอบของงานดูเสมอกัน
• เป็นจุดพักสายตา
• ช่วยเน้นส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น ปล่อยให้มีช่องว่างรอบๆส่วนประกอบนั้นมากกว่าที่อื่น
• ทำให้ตัวอักษรดูเด่นชัดขึ้น
ขนาด (Size) ขนาดของวัตถุทั้งใหญ่หรือเล็กเป็นส่วนประกอบกันที่ทำให้เลย์เอ้าท์มีรูปแบบขึ้นมา การจัดขนาดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ดีจะทำให้เลย์เอ้าท์น่าสนใจยิ่งขึ้นและดูเป็นระเบียบขึ้น ขนาดจะทำให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่ต้องการเน้น ช่วยดึงดูดความสนใจ และช่วยให้เลย์เอ้าท์ประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะสม
การใช้ขนาดในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• แสดงความสำคัญขององค์ประกอบ
• ดึงดูดความสนใจ เช่น ใช้ขนาดที่ต่างกันเพื่อให้เกิดการตัดกัน
• ทำให้มองเห็นองค์ประกอบแต่ละส่วนได้ง่ายขึ้น
• ทำให้งานดูมีความสม่ำเสมอตลอดทั้งหน้า
ค่าความดำ (Value) ค่าความดำคือ ความมืดหรือความสว่างของพื้นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งเกิดจากการไล่ค่าระดับความสว่างหรือความมืดที่อยู่ระหว่างขาวไปจนถึงดำ ค่าความดำนี้จะแสดงเฉดของสีต่าง ๆ เป็นเฉดของสีเทา เฉดสีเทาเหล่านี้จะมีค่าความดำจากอ่อนที่สุดไปถึงเข้มที่สุด ค่าความดำทำให้เกิดอารมณ์ ความหม่นมัวและความลึก
การใช้ค่าความดำในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• ทำให้สิ่งของดูมีมิติ มีความลึก และมีแสงเงา
• ทำให้รู้สึกถึงสิ่งของใดอยู่ด้าน สิ่งใดอยู่ด้านหลัง
• ทำให้ภาพรวมเป็นภาพประเภทสว่าง (High Key) หรือมืด (Low Key) ตามปริมาณค่าความดำรวม
• ใช้เน้นส่วนสำคัญ โดยให้ค่าความดำของส่วนที่ต้องการเน้นแตกต่างกับส่วนที่อยู่โดยรอบ
• ใช้นำสายตาไปยังจุดที่ต้องการ
การใช้สีในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• สามารถดึงดูดสายตาให้เกิดความสนใจ
• ช่วยสร้างอารมณ์ ความรู้สึก
• ช่วยดึงสายตาว่าจุดใดเป็นจุดแรกที่ต้องการให้มอง
• สามารถจัดองค์ประกอบของงานรวมกลุ่มกัน หรือจะแยกมันออกจากกันด้วยการเลือกใช้สีที่ต่างกันไป
• ช่วยผสมผสานให้ภาพรวมมีความสมดุล
• ใช้เน้นข้อความสำคัญหรือหัวเรื่อง
ตัวอักษร (Typography) ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากองค์ประกอบอื่น ตัวอักษรสามารถเรียงร้อยบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้อ่านได้โดยตรง ไม่ต้องแปลความหมายเหมือนเช่นองค์ประกอบอื่น ในขณะเดียวกันเราก็สามารถตกแต่งตัวอักษรโดยใช้รูปแบบ ขนาด และสีสัน มาจัดวางเป็นรูปแบบต่าง ๆ สร้างแรงดึงดูดให้สนใจและน่าติดตาม
การใช้ตัวอักษรในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
• ใช้บอกกล่าวข้อความที่องค์ประกอบอื่นไม่สามารถสื่อออกมาได้
• ดึงดูดให้เกิดความสนใจด้วยขนาด สีสันและข้อความที่เร้าใจ
• จัดลำดับความสำคัญและบอกเล่ารายละเอียดโดยจัดทำหัวข้อหลัก หัวข้อรอง และเนื้อหา ฯลฯ
• สามารถจัดเรียงตัวอักษรประกอบเป็นภาพ หรือรูปทรงต่าง ๆ โดยใช้แบบอักษร ขนาด และสีสัน ที่ต่าง ๆ กัน
• สามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มก้อน จัดวางและใช้ช่องไฟ สีสันตลอดจนองค์ประกอบอื่นในการแบ่งแยกให้เป็นระเบียบ ง่ายต่อการสื่อสาร และดูสวยงาม
• ใช้ขยายความ หรืออธิบายภาพประกอบต่าง ๆ
หลักการออกแบบสิ่งพิมพ์เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะใช้องค์ประกอบของการออกแบบอย่างไร และช่วยให้สามารถผสมผสานส่วนประกอบต่าง ๆ ของงานจนจัดวางเป็นเลย์เอ้าท์ที่ดีได้
หลักการออกแบบฯ มี 4 ข้อดังนี้
1. ความสมดุล (Balance) สมดุลคือการกระจายอย่างทั่วถึงของน้ำหนัก ในงานออกแบบสิ่งพิมพ์ น้ำหนักของส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นน้ำหนักที่สายตารู้สึกเมื่อมองส่วนประกอบนั้น ๆ ทุกส่วนบนเลย์เอ้าท์มีน้ำหนักซึ่งรู้สึกได้จากขนาด ความมืดหรือความสว่าง สีและความเข้มของสี ความหนาและบางของเส้น ความสมดุลมีสองแบบ คือสมดุลที่กระจายเท่ากันทั้งซ้ายขวาของศูนย์กลาง (Symmetrical Balance) และความสมดุลที่เกิดจากการนำส่วนประกอบที่มีขนาดไม่เท่ากันมาจัดวางแต่เมื่อดูโดยรวมแล้วน้ำหนักทั้งหมดสมดุลกัน (Asymmetry Balance) องค์ประกอบของการออกแบบที่นำมาใช้เพื่อสร้างความสมดุลได้แก่ รูปร่าง ขนาด ค่าความดำ สี
Symmetrical Balance จะให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแรง เหมาะสำหรับสิ่งพิมพ์ที่ต้องการสื่อถึงความมีระเบียบแบบแผน และความอนุรักษ์นิยม
Asymmetrical Balance จะสื่อถึงความขัดแย้ง ความหลากหลาย ความไม่เป็นระเบียบ และความประหลาดใจ
การสร้างความสมดุล
• กำหนดจุดศูนย์กลางของชิ้นงาน
• ส่วนประกอบเล็กๆหลายชิ้นสามารถสมดุลกับส่วนประกอบใหญ่หนึ่งชิ้น
• ใช้รูปร่างที่แปลกออกไปหนึ่งหรือสองชิ้นร่วมกับรูปร่างทั่ว ๆ ไป
• เว้นช่องว่างสีขาวให้มากรอบ ๆ คอลัมน์สีเข้ม หรือรูปภาพมืด ๆ
• ตัวอักษรที่หนาหนัก ควรมีภาพสีสว่าง สดใสมาช่วยให้สว่างขึ้น
• ภาพถ่ายหรือภาพประกอบสีทึม ควรวางตัวหนังสือชิ้นเล็กๆหลายชิ้นประกอบเข้าไป และเว้นช่องไฟสีขาวโดยรอบเยอะๆ
2. จังหวะ (Rhythm) จังหวะคือรูปแบบที่เกิดจากการซ้ำกันขององค์ประกอบต่างๆ การซ้ำกันขององค์ประกอบเดียวกันในลักษณะที่สม่ำเสมอ และความแตกต่างเช่น การเปลี่ยนรูปร่าง ขนาด หรือตำแหน่งขององค์ประกอบ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการมองเห็นจังหวะในงานออกแบบ การวางองค์ประกอบซ้ำ ๆ กันที่ระยะห่างเท่า ๆ กันทำให้เกิดความรู้สึกราบเรียบ จังหวะที่เท่า ๆ กัน สงบและผ่อนคลาย การเปลี่ยนขนาดและช่องไฟของส่วนประกอบอย่างฉับพลันจะทำให้เกิดจังหวะเร็วและมีชีวิตชีวา และสร้างความรู้สึกน่าตื่นเต้น
การสร้างจังหวะในงานออกแบบ
• วางองค์ประกอบเดิมซ้ำกันและให้มีช่องไฟเท่ากัน
• วางองค์ประกอบเดิมในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และขยายช่องไฟขึ้นให้รับกัน
• มีการกลับความหนาบางของตัวอักษร เช่นให้มีตัวอักษรบางเบา สลับกับตัวทึบหนา
• วางองค์ประกอบเดิมในหลาย ๆ จุดบนเลย์เอาท์
• ถ้ามีหลายหน้าอาจวางองค์ประกอบเดิมที่จุดเดียวกันบนทุก ๆ หน้า
3. การเน้น (Emphasis) การเน้นคือการทำให้องค์ประกอบหนึ่งเป็นที่สังเกตเห็นก่อนส่วนอื่น ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อองค์ประกอบนั้นแตกต่างจากองค์ประกอบอื่น บนงานออกแบบทุกชิ้นควรมีจุดเด่นนี้เพื่อดึงดูดสายตาของผู้ดูไปสู่ส่วนสำคัญของงาน แต่ถ้ามีจุดเด่นมากเกินไปก็อาจไม่เกิดผลตามที่ต้องการ
การทำให้เกิดจุดสนใจ
• วางรูปภาพที่ต้องการเน้นให้กรอบภาพมีรูปทรงแปลกออกไปท่ามกลางรูปที่มีกรอบสี่เหลี่ยมและมีช่องไฟเท่า ๆ กัน
• ใช้เส้นโค้งเป็นรูปร่างของตัวอักษรที่จะเน้นท่ามกลางตัวอักษรตรง ๆ
• ใช้ตัวอักษรสีหรือรูปแบบตัวอักษรที่ต่างออกไปเมื่อต้องการเน้น
• ใช้ตัวอักษรขาวบนพื้นสีสำหรับสิ่งที่จะเน้น
• ใช้ตัวหนาสำหรับหัวข้อและตัวอักษรที่บางลงสำหรับเนื้อหา
4. เอกภาพ (Unity) เอกภาพทำให้งานออกแบบดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะช่วยผู้อ่านรู้ว่าเป็นงานชิ้นเดียวกัน ใช้กริด (Grid) เพื่อวางกรอบโครงร่างของงาน (การเว้นคั่นหน้า คั่นหลัง คอลัมน์ การเว้นช่องไฟ และสัดส่วน) ให้เป็นระบบระเบียบ การจัดกลุ่มให้องค์ประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ดูเรื่องการซ้ำกันของสี รูปร่างและพื้นผิว เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นตัวอักษร หัวเรื่อง รูปภาพ ภาพถ่าย เป็นงานเดียวกัน
การสร้างเอกภาพ
• ใช้ตัวอักษรเพียงหนึ่งหรือสองแบบตลอดชิ้นงาน ถ้าจะให้มีการตัดกันให้ใช้ขนาดที่แตกต่างกัน
• ให้มีความสม่ำเสมอในเรื่องแบบตัวอักษร ขนาดของหัวข้อ หัวข้อย่อย และข้อความ
• เลือกภาพที่มีโครงสีคล้ายคลึงกัน
• วางรูปภาพและคอลัมน์ในเส้นกริดเดียวกัน
• เลือกใช้สีจากชุดสีเดียวกันตลอดทั้งงาน
• ให้มีการซ้ำกันของสี รูปร่างและพื้นผิวในที่ต่าง ๆ ตลอดทั้งงาน
บทความที่เกี่ยวเนื่อง:
« ขบวนการการออกแบบสิ่งพิมพ์
« การจัดเลย์เอ้าท์โดยใช้กริด
บริการจากโรงพิมพ์สุพรีมพริ้นท์:
