
Scenery | |
การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์เป็นหนึ่งในความนิยมของช่างภาพทั่วไป เป็นศิลปะในการเก็บความงดงาม จิตวิญญาณของธรรมชาติมาบรรจุในภาพถ่าย ภาพที่ดีจะทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในภาพและมีความรื่นรมย์กับบรรยากาศของภาพ เมื่อเรามีโอกาสได้เยี่ยมชมสถานที่สวยงามแห่งหนึ่ง เราก็อยากจะเก็บบันทึกภาพสถานที่แห่งนั้น อาจจะเอาไปแชร์ให้เพื่อนฝูงได้ชม หรือเก็บไว้เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งได้มาเยี่ยมที่นั่น แต่ถ้าอยากมีภาพที่ได้คุณภาพ สามารถนำไปใช้งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ หารายได้ในเว็บสต็อกภาพ หรือทำเป็นภาพติดผนัง ลงในแฟ้มภาพของหน้าเว็บไซต์ส่วนตัว ฯลฯ ช่างภาพก็ควรมีความรู้เพียงพอในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์
สถานที่การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนการถ่ายทำ ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กับขบวนการถ่ายภาพ เราควรจะกำหนดให้แน่ชัดว่าจะวางแผนถ่ายภาพ ณ ตำแหน่งใดของสถานที่นั้น เวลาใดที่แสงเหมาะสม ให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ควรฝึกอ่านแผนที่ให้ชำนาญ เพื่อช่วยในการหาสถานที่ที่เหมาะ ประมาณเวลาในการเดินทาง เพื่อจะได้มีเวลาเพียงพอที่สามารถถ่ายภาพได้ และเตรียมหาเส้นทางกลับซึ่งมักเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ตกไปแล้ว อดทนบ่อยครั้งที่มีอุปสรรคเล็กบ้าง ใหญ่บ้างมารบกวนการถ่ายภาพ เช่น มีกลุ่มเมฆบังดวงอาทิตย์ ทำให้แสงไม่สามารถสาดส่องลงตามที่ตั้งใจบ้าง เมฆทรงไม่สวยบ้าง มีผู้คนเดินผ่านบ้าง ฯลฯ ช่างภาพจึงต้องมีความอดทน รอคอยให้เมฆผ่านพ้นไปบ้าง หรือให้พื้นที่ปลอดคนแล้วบ้าง บางครั้งการรอคอยจบลงด้วยความผิดหวังไม่สามารถหาจังหวะที่จะบันทึกภาพดังที่หวังไว้ ก็ต้องวางแผนมาถ่ายทำใหม่ ช่างภาพควรกะเวลาให้มากพอเผื่อการรอคอย อีกทั้งศึกษาสภาพอากาศในวันที่จะมาถ่ายทำ
ขยันเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพวิวภาพหนึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจคือเป็นมุมภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตัวอย่างเช่น หากเราวางแผนปีนขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งต้องใช้เวลาเพิ่มจากตารางปกติและสร้างความเหนื่อยล้า แต่จะทำให้เราได้มุมภาพที่สวยงามซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยขึ้นมาถ่ายทำ ดังนั้นช่างภาพจึงต้องขยัน หาตำแหน่งถ่ายภาพที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง อนึ่งให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางไปให้ถึงตำแหน่งนั้นๆ ด้วย
แสงที่ดีที่สุดแสงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการถ่ายภาพโดยฉพาะการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ไม่ว่าสถานที่ที่จะถ่ายนั้นดีเลิศเพียงใด หรือจะจัดองค์ประกอบภาพได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าหากแสงไม่มาช่วยทำให้ภาพดูดี ภาพที่ได้ก็จะไม่โดดเด่น ช่วงเวลาที่ถ่ายภาพวิวที่ดีที่สุดคือ ช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ส่วนช่วงกลางวันแสงจะแรงและแข็งมากเกินไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายหากเราสามารถหามุมกล้องแล้วทำการถ่ายภาพในสภาพวะของแสงที่แตกต่างออกไป อย่างเช่นช่วงวันที่มีเมฆมาก หรือมีพายุฝน กุญแจที่สำคัญคือการรอหาจังหวะที่แสงส่องให้สถานที่นั้นดูดีมากสุดเท่าที่จะเป็นได้
ตั้งรูรับแสงให้เล็กที่สุดโดยปกติภาพถ่ายวิวทิวทัศน์จะมีความคมชัดในทุกๆส่วนของภาพ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุที่อยู่ใกล้หรือวัตถุที่อยู่ไกลออกไป หากเราดูภาพถ่ายที่ขนาดเล็กอาจจะเห็นว่าภาพคมชัดดี แต่พอนำภาพนั้นไปขยายใหญ่ขึ้นจะสังเกตเห็นว่ามีบางจุดเริ่มไม่คมชัด วิธีแก้ไขสามารถทำได้โดยการตั้งรูรับแสงให้เล็กตั้งแต่ f8 ขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ระยะชัดลึกมากเพียงพอให้วัตถุต่างๆ ในภาพคมชัดได้ ดังนั้นขณะที่ทำการถ่ายภาพ ลองขยายภาพที่จอแสดงภาพด้านหลังกล้องแล้วตรวจดูว่าส่วนต่างๆ ของภาพคมชัดเพียงพอหรือไม่
มีขาตั้งติดตัวขาตั้งกล้องช่วยยึดติดกล้องไว้ไม่ให้ขยับเขยื้อน ทำให้การถ่ายภาพไม่สั่นไหว ในช่วงเวลาถ่ายภาพที่ดีไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้า หรือช่วงเย็น แสงในช่วงนั้นมักจะไม่แรงมาก ในขณะที่เราต้องการภาพที่มีระยะชัดลึกมากๆ โดยตั้งรูรับแสงที่เล็กมาก แสงก็จะผ่านเลนส์น้อย เพื่อไม่ให้ภาพสั่นไหว เราต้องตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่สูง ซึ่งผลคือค่า ISO ต้องสูงมากเพื่อให้ได้ปริมาณแสงกับหน่วยรับภาพที่ถูกต้อง การที่ ISO สูง จะนำมาซึ่งเม็ดสีที่ใหญ่ และเม็ดสีที่ผิดเพี้ยน ดังนั้นการใช้ขาตั้งกล้องแล้วลดความเร็วชัตเตอร์ลงจะทำให้ได้ภาพที่ดีมากขึ้น
ดูองค์ประกอบของภาพเวลาเรามองภาพผ่านช่องมองภาพ (Viewfinder) ก่อนบันทึกภาพ ให้ขยับกล้องเพื่อจัดองค์ประกอบของภาพให้ถูกต้องไปเลย จะดีกว่าการหวังพึ่งขบวนการครอบตัดภาพ (Cropping) โดยใช้โปรแกรมตกแต่งภาพในภายหลัง ถ้าหากเห็นว่าไม่สามารถจัดองค์ประกอบของภาพได้ถูกต้องขณะที่มองผ่านช่องมองภาพ ก็จะไม่สามารถทำให้เป็นภาพที่ดีในภายหลัง
ใช้ฟิลเตอร์ ND และโพลาไรซ์ฟิลเตอร์ ND (Neutral Density filters) และฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarizing filter) เป็นฟิลเตอร์ที่สำคัญสำหรับช่างภาพที่ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ฟิลเตอร์ ND มีประโยชน์คือช่วยลดแสงที่สว่างมาก เช่นส่วนของท้องฟ้า ให้มืดลง ในขณะที่คงความสว่างของส่วนอื่นๆ ทำให้ภาพไม่เกิดความแตกต่างของแสงจนเกินไป ส่วนฟิลเตอร์โพลาไรซ์ช่วยตัดแสงสะท้อน เช่นแสงสะท้อนบนผิวน้ำ ทำให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น และมีสีสันดีขึ้น
หมั่นฝึกฝนภาพที่โดดเด่นทั้งองค์ประกอบและแสงสีบางภาพไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ ทุกครั้งที่เราบันทึกภาพที่คิดว่าดีแล้ว แต่หากมีความคิดว่ามีบางจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ และสามารถถ่ายใหม่ให้ภาพดียิ่งขึ้น ก็ควรจะทำการถ่ายทำเพิ่มเติมโดยเลือกหาช่วงเวลาที่ดีที่สุด ด้วยกรรมวิธีที่ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้ อาจจะเฝ้ารอจังหวะถ่ายหรือกลับมาถ่ายใหม่อีกรอบหนึ่ง
อ้างอิง : https://digital-photography-school.com/importance-scouting-landscape-photographers/ https://www.pixpa.com/blog/landscape-photography-tips
|