
Animals | ||
การถ่ายภาพสัตว์การเลือกใช้กล้องสำหรับการถ่ายภาพสัตว์การถ่ายภาพสัตว์ก็เหมือนถ่ายภาพเด็กเล็กที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่อยู่นิ่ง ทำให้การหาโฟกัสที่แบบเป็นได้ยาก (ยกเว้นกล้องสมัยใหม่ที่สามารถจับโฟกัสที่ใบหน้าหรือลูกนัยน์ตาได้ตลอดทุกการเคลื่อนไหว) และมีเวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตัดสินใจลั่นชัตเตอร์เมื่อพบจังหวะท่วงท่าที่เหมาะๆ แต่ก็มีบางโอกาสสัตว์ที่เป็นแบบก็ตั้งท่าเท่ๆ นิ่งๆ ให้เราเลือกมุมถ่ายโดยไม่ต้องรีบเร่ง
การถ่ายภาพสัตว์จะใช้กล้องอะไรก็ได้ กล้องที่เหมาะสมควรเป็นกล้องดิจิตอลเพื่อสามารถนำภาพที่บันทึกไว้ขึ้นมาดูหน้าจอได้ทันทีหลังจากการถ่าย ควรเป็นกล้องที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ต่างๆ สามารถเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ ควรเป็นกล้องที่จับโฟกัสอัตโนมัติ (Auto Focus) จะช่วยในการถ่ายภาพเคลื่อนไหว ควรมีหน่วยรับแสงที่ใหญ่พอควร เป็นขนาด DSLR ขึ้นไปจะช่วยให้ภาพมีรายละเอียดที่ดีพอและสามารถครอบตัดส่วนเกินของภาพได้ในภายหลัง
การเลือกใช้เลนส์ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพสัตว์เลนส์แต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของมัน สามารถแบ่งประเภทของเลนส์ตามความยาวโฟกัสได้ 3 ประเภท คือกลุ่มเลนส์ถ่ายภาพมุมกว้าง (Wide Angle Lens) กลุ่มเลนส์ถ่ายภาพปกติ (Normal Lens) และกลุ่มเลนส์ถ่ายภาพระยะไกล (Telephoto Lens) หากเราต้องการถ่ายภาพสัตว์เห็นฉากหลังเยอะๆ ก็ควรใช้เลนส์ถ่ายภาพมุมกว้าง แต่หากต้องการเน้นที่ตัวของสัตว์นั้น หรือถ่ายภาพจากระยะไกลก็ควรใช้เลนส์ถ่ายภาพระยะไกล การมีเลนส์หลายตัวจะช่วยการถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเพิ่มภาระในการจัดเก็บและการพกพา การเปลี่ยนเลนส์จากตัวหนึ่งไปใช้อีกตัวหนึ่งก็กินเวลา ซึ่งอาจทำให้เสียจังหวะดีๆ ในการบันทึกภาพ การใช้เลนส์ซูม (Zoom Lens) ช่วยแก้ปัญหาในการเปลี่ยนเลนส์ไปมา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความคมชัดและรายละเอียดของภาพไปบ้าง
การใช้เลนส์กว้างพิเศษ (Ultra Wide Lens) ในการถ่ายสัตว์นอกสถานที่การใช้เลนส์กว้างพิเศษ (ความยาวโฟกัสต่ำกว่า 15 มม. สำหรับหน่วยรับภาพขนาด APSC หรือต่ำกว่า 24 มม. สำหรับหน่วยรับภาพขนาด 35 มม.) มาใช้ถ่ายภาพสัตว์ถือว่าเป็นงานที่ท้าทาย ในการถ่ายเราควรเข้าใกล้ตัวสัตว์ให้มากพอที่จะได้ขนาดของตัวมันในภาพใหญ่เพียงพอ หาฉากหลังที่ไม่รกมากเพื่อไม่ให้มาแย่งความสนใจ เนื่องจากต้องถ่ายใกล้จึงเหมาะสำหรับถ่ายสัตว์ที่เชื่องๆ สามารถหลอกล่อได้ ภาพที่ได้จะเห็นตัวของสัตว์ใหญ่กว่าความจริงและดูบิดเบี้ยว เห็นฉากหลังกว้าง เป็นภาพแปลกตาที่ช่างภาพน้อยรายจะถ่ายทำในลักษณะนี้
การใช้เลนส์ถ่ายภาพระยะไกล (Telephoto Lens) ในการถ่ายภาพสัตว์เลนส์ถ่ายภาพระยะไกลเป็นเลนส์หลักที่ใช้ในการถ่ายภาพสัตว์ ช่างภาพจะไม่อยู่ใกล้กับตัวสัตว์ ทำให้ไม่เป็นการรบกวนให้สัตว์มาสนใจในตัวช่างภาพ และคงกิริยาท่าทางที่เป็นอยู่ การใช้เลนส์ชุดนี้จะได้ภาพที่ไม่มีการบิดเบือนรูปร่างของสัตว์ ฉากหลังจะพร่ามัวมากกว่าเลนส์ถ่ายภาพมุมกว้างทำให้ตัวสัตว์มีความโดดเด่นขึ้น ช่วงระยะโฟกัสของเลนส์ที่นิยมใช้กันคือ 70 มม. ถึง 200 มม. หากค่าสูงกว่านี้ระยะชัดลึกจะน้อยเกินไป กล่าวคืออาจจะเห็นลูกนัยน์ตาคมชัดในขณะที่จมูกหูเริ่มพร่ามัว ในการถ่ายสัตว์ป่าที่อยู่ไกลมาก หรือสัตว์ปีกเช่น นก ซึ่งมีร่างกายที่เล็กและมักเกาะอยู่ตามกิ่งไม้สูงหรือไกลจากช่างภาพมาก จำเป็นต้องใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากๆ ตั้งแต่ 500 มม. ขึ้นไป จึงจะได้ภาพที่มีขนาดของตัวสัตว์ที่ใหญ่พอ การถ่ายต้องตั้งกล้องให้มั่นคงมิฉะนั้นภาพที่ได้จะสั่นไหว
การใช้เลนส์ถ่ายภาพปกติ (Normal Lens) ในการถ่ายภาพสัตว์การใช้เลนส์ถ่ายภาพปกติซึ่งมีความยาวโฟกัส 50 มม. สำหรับกล้องที่มีหน่วยรับแสงขนาด 35 มม. ช่างภาพต้องเข้าไปใกล้ถึงตัวสัตว์ได้ระยะหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับการถ่ายสัตว์ที่มีความเชื่องไม่ทำร้ายช่างภาพ ช่างภาพต้องเคลื่อนไหวได้เร็วตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ และต้องขยับเข้าใกล้หรือออกห่างเพื่อครอบตัดรูปให้ได้สัดส่วนภาพที่ต้องการ ข้อดีของเลนส์ถ่ายภาพปกติคือราคาไม่แพง ภาพคมชัดไม่บิดเบือน ปรับรูรับแสงได้กว้างทำให้ถ่ายในที่ที่มีแสงน้อยได้ดี
การใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ (Polarizing Filters) ช่วยปรับปรุงภาพฟิลเตอร์โพลาไรซ์มีประโยชน์ในการตัดแสงสะท้อนที่จะเข้าไปในหน่วยรับภาพ และมีผลทำให้ภาพมืดลง การใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์ในการถ่ายภาพนอกสถานที่จะช่วยทำให้ท้องฟ้าลดความสว่างลง ช่างภาพจะค้นพบว่าภาพมีสีสันที่ต่างออกไปและเห็นรายละเอียดมากขึ้น มีความน่าสนใจมากขึ้น
การตั้งค่าต่างๆ ของกล้องในการถ่ายภาพสัตว์การถ่ายภาพสัตว์ให้ได้ดีนอกจากจะมีกล้องและเลนส์ที่เหมาะสมแล้ว ช่างภาพควรมีความรู้ความเข้าใจการตั้งค่าต่างๆ ของกล้องตลอดจนความสัมพันธ์ของค่าเหล่านี้ จะทำให้ได้ภาพที่ตรงความต้องการมากกว่าการตั้งโหมดอัตโนมัติให้กล้องคำนวณค่าต่างๆ ให้ เนื่องจากแบบของเราโดยปกติจะเคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่อยู่นิ่ง ถ้าต้องการให้ภาพแบบคมชัด ควรตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) ตั้งแต่ 1/250 วินาทีขึ้นไป การตั้งรูรับแสง(Aperture) อยู่ที่ความต้องการว่าจะให้ฉากหลังพร่ามัวขนาดไหน รูรับแสงยิ่งใหญ่ขึ้นระยะชัดลึกจะน้อยลง ฉากหลังจะพร่ามัวมากขึ้น ซึ่งกล้องสมัยใหม่สามารถดูผลลัพธ์ที่หน้าจอก่อนถ่ายได้ เมื่อตั้งสองค่านี้แล้วก็ให้กล้องคำนวณหาค่าความไวแสง (ISO) ให้ ข้อควรระวังในกรณีที่แสงไม่ค่อยเพียงพอ ค่าความไวแสงอาจจะสูงมากจนทำให้รายละเอียดของภาพด้อยลง เห็นเม็ดสีใหญ่ขึ้น (Grain)และเกิดเม็ดสีผิดเพี้ยน (Noise) ปัจจุบันนี้หน่วยรับแสงมีคุณภาพดีขึ้นมาก ที่ ISO สูงถึง 1600 ก็ยังรักษาคุณภาพของภาพได้ดี อย่างไรก็ดีให้พยายามใช้ ISO ที่ต่ำไว้ ประมาณไม่เกิน 800 ส่วนการตั้งโฟกัส ควรตั้งระบบโฟกัสอัตโนมัติเนื่องจากกล้องสามารถทำงานได้เร็วกว่าเรามาก โดยปกติควรจับโฟกัสที่ส่วนหัว หรือลูกนัยน์ตา
การเตรียมเรื่องแสงการถ่ายนอกสถานที่มักใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก หากจัดแสงเองไม่ได้ ให้เดินรอบแบบหามุมแสงที่เหมาะกับรูปที่เราจะถ่ายประกอบกับมุมกล้องที่ต้องการ ช่างภาพควรมีแฟลชพกพาและฉากสะท้อนแสงติดตัว หากมีผู้ช่วยก็ให้ผู้ช่วยถือแฟลชไปจุดที่อยากได้แสงส่อง ส่วนฉากสะท้อนแสงใช้สะท้อนแสงไปส่วนที่มืดของตัวสัตว์จะได้เห็นรายละเอียดของบริเวณนั้น ในกรณีที่ไม่มีผู้ช่วยก็สามารถติดแฟลชไว้กับตัวกล้อง แต่ให้แน่ใจว่าแสงจากแฟลชไปถึงตัวแบบได้เพียงพอ การถ่ายโดยติดแฟลชกับกล้องให้พยายามเห็นแววตามีจุดสว่างจากแสงแฟลชจะได้ภาพที่ดูดี
|