
Objects | ||
เคล็ดลับการถ่ายภาพวัตถุ (1)การถ่ายภาพวัตถุในที่นี้หมายถึงการถ่ายสิ่งของซึ่งจะเป็นชิ้นไม่ใหญ่มาก สามารถนำเข้ามาในสตูดิโอ มีอุปกรณ์การถ่ายภาพ เช่น โต๊ะถ่ายแบบ ฉากขาว ระบบแสงไฟแฟลช แผ่นสะท้อนแสง ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ มาใช้ในการถ่ายทำ
เรื่องของแสงมีความสำคัญมากที่จะทำให้วัตถุดูเด่น ควรใช้แสงหลักที่มีความอ่อนนุ่มโดยมีแผ่นกระดาษฝ้าหรือผ้าขาวคั่นทางเดินแสงไว้เพื่อกระจายแสงให้นุ่มขึ้น หรือใช้ซอฟท์บ๊อกซ์ (Soft Box) สวมกับหัวแฟลช การถ่ายวัตถุควรติดกล้องกับขาตั้งกล้อง จะทำให้ภาพที่ได้คมชัด จุดโฟกัสเป็นไปตามที่ปรับตั้งไว้
แขวนวัตถุที่จะถ่ายการแขวนวัตถุที่จะถ่ายช่วยทำให้เราเห็นมุมมองของวัตถุได้ดีขึ้น ซึ่งบางครั้งเราไม่อยากเห็นเงาด้านมืดของวัตถุที่ใกล้กับพื้น วัตถุบางอย่างไม่สามารถวางตั้งได้บนพื้นราบ การแขวนจึงช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ สิ่งที่ต้องแก้ไขในการแขวนวัตถุไว้คือทำอย่างไรถึงไม่มีเชือกหรือเส้นด้ายที่ใช้แขวนวัตถุปรากฏในภาพ บางกรณี เราใช้ลวดแข็งหรือแท่งไม้แข็งๆ เสียบด้านหลังของวัตถุ เวลาถ่ายภาพตัววัตถุก็จะบังไม่ให้เห็นลวดหรือไม้ที่เสียบไว้ ลองใช้ลูกเล่นกับการแขวนวัตถุนี้ เช่นแขวนกลับหัววัตถุ ลองทำให้ดูสนุก แปลกใหม่ หรือดูมีเสน่ห์ โดยเปลี่ยนมุมกล้องและบันทึกภาพไว้หลายๆ ชุด
ถ่ายมุมแปลกๆโดยปกติเราจะถ่ายภาพในแนวระนาบเดียวกับวัตถุซึ่งเป็นระดับสายตา การเปลี่ยนมุมกล้องเป็นมุมอื่นๆ มักจะทำให้เรารู้สึกว่ารูปร่างของวัตถุจะบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป แต่หากเราลองทดลองเปลี่ยนมุมกล้องไม่ว่าตั้งใจให้วัสดุดูบิดเบี้ยว หรือรู้อยู่แล้วว่าวัตถุที่ถ่ายนั้นไม่ค่อยบิดเบือนแม้จะเปลี่ยนมุมกล้อง เราอาจได้ภาพที่ดูไม่จำเจ และหากเราแขวนวัสดุตามที่กล่าวในหัวข้อก่อนหน้า เราอาจตั้งกล้องถ่ายจากมุมข้างล่างของวัตถุบ้าง ด้านบนบ้าง ก็สามารถสร้างภาพที่แปลกตาได้ บางภาพแม้ตัววัตถุจะดูบิดเบี้ยวผิดธรรมชาติก็ดูโดดเด่นกว่าภาพที่ถ่ายปกติ
ลองใช้เลนส์มาโคร (Macro Lens)ในการถ่ายภาพวัตถุโดยเฉพาะงานที่ใช้ในการโฆษณาแนะนำสินค้า นอกจากจะใช้ภาพที่แสดงวัตถุเต็มตัวแล้ว ยังมักต้องการภาพระยะใกล้แสดงรายละเอียดส่วนต่างๆ ของวัสดุเพื่อประกอบในหน้าแคตตาล็อกสินค้าหรือหน้าโฆษณาต่างๆ ดังนั้นการถ่ายภาพแต่ละชุด ควรลำดับการถ่ายภาพให้ครบแบบ ในการถ่ายระยะใกล้ด้วยเลนส์มาโครให้ระวังเรื่องของแสง จะใช้แสงที่แข็งหรือนุ่มแล้วแต่ความต้องการและดูจากพื้นผิววัตถุที่จะถ่าย ส่วนที่มืดของภาพให้ตรวจดูว่าสามารถเห็นรายละเอียดของวัตถุเพียงพอหรือไม่ หากเป็นพื้นผิวที่มีความสูงต่ำที่ต่างกันมากและต้องการให้เห็นรายละเอียดทุกส่วน ให้ตั้งรูรับแสงให้เล็กไว้ การถ่ายด้วยเลนส์มาโครจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดกล้องกับขาตั้งกล้องเพื่อจะตั้งโฟกัสได้แม่นยำ กล้องไม่ขยับเพราะจะทำให้โฟกัสผิดจากจุดเดิม อีกทั้งภาพไม่สั่นไหวเนื่องจากการถือกล้องไม่นิ่งพอ ในกรณีที่วัตถุมีการเคลื่อนไหว ให้ตั้งความเร็วชัตเตอร์ที่สูงไว้ หากเป็นการเคลื่อนอย่างช้า ใช้ขาตั้งกล้องอาจช่วยได้ การถ่ายภาพใกล้วัตถุมาก เพียงขยับกล้องนิดเดียวโอกาสที่กล้องจะหลุดโฟกัสเป็นไปได้สูง ควรตั้งให้กล้องล็อคจุดโฟกัสสำหรับกล้องที่จับโฟกัสอัตโนมัติ และควรกดถ่ายภาพแบบต่อเนื่องหลายๆ ภาพ การถ่ายวัตถุเคลื่อนไหวนี้เป็นเรื่องของความว่องไวและประสบการของช่างภาพในการตัดสินใจลั่นชัตเตอร์แต่ละครั้ง
แสดงการใช้งานแบบเพี้ยนๆวัตถุส่วนใหญ่ที่นำมาเป็นแบบมักจะสามารถนำมาใช้งานหรือใช้ทำประโยชน์ได้ เช่น แหวนใช้สวมนิ้วมือ แปรงเอาใช้ทาสี คราวนี้ลองทำการบ้านโดยเตรียมกระดาษและดินสอ ใช้เวลาคิดหาว่าวัตถุที่จะถ่ายทำนั้นสามารถนำมาใช้ทำอะไรได้บ้าง จดบันทึกเป็นข้อๆ เริ่มจากประโยชน์ที่ใช้งานตามปกติก่อน แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ว่าจะนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้อย่างไรบ้าง พยายามหาความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น เอาแหวนไปสวมหนวดปลาหมึก เอาแปรงทาสีจุ่มสีผูกไว้ที่หางสุนัขแล้วให้มันเดินแกว่งหางป้ายสีที่พื้นเป็นลวดลายแปลกๆ เป็นต้น หลังจากที่จดความคิดต่างๆ ลงในกระดาษ ก็มาพิจารณาดูว่ารายการไหนที่เป็นความคิดที่ดูยอดเยี่ยม หากเป็นงานโฆษณาก็เป็นความคิดที่สามารถสร้างพลังให้กับสินค้า อนึ่งภาพที่ต้องการอาจไม่สามารถจัดฉากถ่ายทำได้ในคราวเดียว อาจต้องอาศัยการตกแต่งภาพโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Photoshop จึงจะได้ภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้นจะเป็นการดีหากได้เตรียมแนวคิดและรูปแบบของภาพให้เรียบร้อยก่อนการลงมือถ่ายทำ
ตกแต่งภาพหลังถ่ายทำตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่าในงานบางงาน การถ่ายภาพอย่างเดียวไม่สามารถสร้างภาพได้ตามที่คิดวางแผนไว้ การตกแต่งภาพจึงเข้ามามีบทบาทในการนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ภาพส่วนใหญ่ล้วนแต่ควรได้รับการปรับปรุงเล็กบ้าง น้อยบ้าง เพื่อให้ภาพสมบูรณ์ขึ้น เช่นปรับความมืดความสว่าง ปรับสีสัน จะมีบางภาพที่ต้องการการปรับปรุงมากไปกว่านั้น เช่นปรับแสงสีเฉพาะจุดในภาพ ลบจุดเล็กๆ ที่ไม่ต้องการออก ส่วนที่ยากขึ้นไปอีกจะเป็นการตัดต่อบางส่วนของภาพ เช่นเพิ่มสิ่งของเข้าไปในภาพ เปลี่ยนฉากหลัง ฯลฯ การตกแต่งภาพเหล่านี้จะได้ประโยชน์สูงต่อเมื่อได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ ของโปรแกรมตกแต่งภาพ อีกทั้งต้องมีความเป็นศิลปินในการทำให้ได้ภาพสุดท้ายที่ทุกอย่างในภาพกลมกลืนสมจริงสมจัง อย่างน้อยที่สุดช่างภาพควรมีความรู้พื้นฐานในโปรแกรมตกแต่งภาพเพื่อแก้ไขภาพเล็กๆ น้อยๆ ได้เอง
|