
< PREV 1 2 3
เคล็ดลับในการถ่ายภาพบุคคลอย่างมืออาชีพ (3)
11 ตรวจสอบแสง
แสงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ และเป็นเหตุให้เราสามารถบันทึกภาพของสิ่งเหล่านั้นได้ แสงไม่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์มีเฉพาะความสว่างกับความมืดเท่านั้น แต่ยังมีระดับความเข้มของความสว่างต่างๆ กัน และสิ่งนี้เองเป็นส่วนช่วยในการสร้างบรรยากาศและอารมณ์ต่างๆ นานา ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับภาพถ่ายนั้นๆ
ในการถ่ายภาพ ถ้าหากทิศทางของแสงส่องจากทางช่างภาพไปที่แบบ ผลจะทำให้ภาพของแบบจะสว่างและดูแบนขาดมิติ ในทางกลับกัน หากแสงมาจากด้านหลังของแบบ ภาพแบบจะมืด ทิศทางของแสงในการถ่ายแบบมักจะเป็นมุม 45 องศา จากด้านใดด้านหนึ่งของช่างภาพ
การที่แสงจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรงเมื่อส่องไปกระทบกับแบบ จะทำให้ภาพที่ออกมามีแต่ส่วนที่สว่างมากกับส่วนที่มืดมาก ทางแก้ไขก็คือ หาแผ่นกระดาษฝ้าขนาดใหญ่คั่นระหว่างแสงกับตัวแบบ จะทำให้แสงถูกกระจายออกแล้วค่อยมากระทบบนตัวแบบ ทำให้ภาพของแบบดูนุ่มนวลขึ้น นอกจากนี้ ในฝั่งด้านไม่ได้รับแสงของตัวแบบอาจจะดูมืดจนไม่สามารถเห็นรายละเอียดในบริเวณนั้น ทางแก้ก็โดยการหาฉากอาจเป็นกระดาษแข็งหรือแผ่นโฟมสีขาวหรือสีเทามาตั้งมุมสะท้อนแสงจากแสงหลักเข้าไปที่แบบ นอกจากจะใช้ฉากสะท้อนแสงแล้ว ก็อาจใช้วิธีจัดชุดแสงที่มีกำลังอ่อนๆ ส่องแทนก็ได้
นอกจากเราจัดให้มีแสงนำเป็นแสงหลักแล้ว เราสามารถจัดแสงรองที่อ่อนกว่าแสงหลักเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสว่างให้กับบริเวณที่ต้องการ บางครั้งเราต้องการเน้นเฉพาะจุดในบริเวณใดของภาพ หรือวัตถุใดในภาพ การบีบบังคับแสงเป็นลำให้มีปริมาณจะมากหรือน้อยลงในตำแหน่งนั้นๆ ก็จะช่วยเพิ่มให้เฉพาะบริเวณนั้นสว่างขึ้นเห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้น เช่น เราอยากให้ภาพแสดงแจกันดอกไม้ข้างๆ ตัวแบบมีรายละเอียดบ้างเล็กน้อยแทนที่มองไม่เห็นเพราะอยู่ในความมืด ก็ใช้วิธีส่องไฟอ่อนๆ ผ่านกรวยบังคับแสงให้ไปตกเฉพาะบริเวณของแจกัน ก็จะได้ภาพบุคคลที่สมบูรณ์ขึ้น
12 ทดลองมุมมองกล้องที่ต่างออกไป
ช่างถ่ายภาพบุคคลมักจะตั้งกล้องในระดับสายตาของแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะได้สายตาของแบบเป็นจุดสนใจของภาพ อย่างไรก็ดีหากเราตั้งมุมกล้องที่ต่างกันออกไป เราก็จะสามารถได้ภาพถ่ายโดดเด่นขึ้นได้เช่นกัน
ลองคิดนอกกรอบโดยยกกล้องในมุมสูงกว่าแบบบ้าง หรือต่ำกว่าแบบบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นลองวางตำแหน่งกล้องให้ใกล้กับพื้นดินแล้วเงยกล้องขึ้นไปที่แบบ มุมมองนี้เป็นมุมมองที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เห็น จึงสามารถดึงให้ภาพทีได้แปลกใหม่และน่าสนใจแก่ผู้พบเห็น
เราสามารถทำให้ภาพของแบบดูผอมลง หนาขึ้น สูงขั้น หรือเตี้ยลงได้โดยปรับตำแหน่งมุมมองของกล้อง ทดลองเดินรอบแบบแล้วลองตั้งกล้องดูจนกว่าจะได้มุมมองที่เห็นว่าเป็นภาพที่ต้องการ
13 หาของมาตกแต่งประดับฉาก
การจัดของตกแต่งในฉากเพื่อเป็นส่วนประกอบในภาพถ่ายจะช่วยภาพมีสีสัน มีเรื่องราวไม่ว่างเปล่าจนเกินไป การเลือกของที่จะมาตกแต่งนั้นให้ดูความเหมาะสม ให้เข้ากับบรรยากาศและเนื้อหาของภาพ ไม่ควรตกแต่งจนกลายเป็นการดึงดูดความสนใจออกจากตัวแบบ ซึ่งจะเป็นการแย่งความสนใจจากตัวแบบ ช่างภาพมือใหม่อาจจะหาของที่อยู่ใกล้ตัว ของประดับบ้าน หยิบยืมจากพี่น้องเพื่อนฝูง ในงานที่พิถีพิถันและตัองการของที่เฉพาะเจาะจงก็ให้ลองเสาะหาจากแหล่งให้เช่าต่างๆ
14 คิดนอกกรอบ
เมื่อเราได้เรียนรู้ทฤษฎีตลอดจนหลักการต่างๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพ และได้ฝึกฝนจนคล่องแคล่วแล้ว บ่อยครั้งเราเมื่อเราถือกล้องเตรียมถ่ายภาพเราจะรู้สึกจำเจกับแนวภาพเดิมๆ จะเป็นการดีไหมที่เราจะลองคิดนอกกรอบบ้างเพื่อหาผลงานแปลกใหม่ไม่ซ้ำกับใคร
การคิดนอกกรอบสำหรับงานถ่ายภาพบุคคล เริ่มจากการสร้างแนวคิดใหม่ๆ มุมกล้องที่ต่างออกไป การไม่ยึดมั่นในองค์ประกอบของภาพ การจัดท่าทางของแบบที่ต่างจากเดิมๆ ตัวอย่างเช่น กฎสามส่วน (Rule of Thirds) ที่ว่าด้วยการวางจุดสนใจไว้ที่ตำแหน่งหนึ่งในสี่จุด หากเราคิดแบบนอกกรอบโดยลองเอาจุดสนใจไปอยู่ทางขวาบ้าง ตรงกลางบ้าง ขอบรูปบ้าง ก็อาจทำให้ภาพถ่ายเป็นที่น่าสนใจและท้าทายได้
15 บันทึกภาพต่อเนื่อง (Burst Mode)
การบันทึกภาพต่อเนื่อง (Burst Mode หรือ Continuous Shooting Mode) เป็นการกดชัตเตอร์ค้างไว้ทำให้เกิดการบันทึกภาพหลายๆ ภาพแบบต่อเนื่องจนได้ภาพคล้ายๆ กันออกมาชุดหนึ่ง หากกล้องและแบบ รวมทั้งฉากหลังไม่มีการเคลื่อนไหว แสงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภาพแต่ละภาพก็ดูเหมือนกันหมด แต่ถ้าหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง แม้จะเพียงเล็กน้อยก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างรูปได้ ประโยชน์จาการถ่ายภาพชุดคือ เราสามารถนำเสนอภาพเรียงกันเป็นชุดผูกเป็นเรื่องราวได้ และบ่อยครั้งเราสามารถคัดเลือกรูปใดรูปหนึ่งในชุดที่ดูแล้วมีจังหวะท่าทางของแบบหรือองค์ประกอบที่ดีสมบูรณ์แบบมาใช้งานต่อไป
16 ตรวจสอบและแก้ไขภาพหลังการถ่ายทำ
บ่อยครั้งที่เราถ่ายภาพนอกสตูดิโอ เรามักจะไม่มีเวลาในการตั้งค่าต่างๆในกล้องถ่าย หรือจัดมุมมองกล้อง หรือการครอบตัดรูปตามที่ประสงค์ได้ทันท่วงที เนื่องจากแบบอาจจะเคลื่อนไหวแล้วจังหวะที่ดูดีมีช่วงเวลาสั้นๆ หากพลาดการบันทึกภาพ ณ ขณะนั้นก็จะหมดโอกาสได้ภาพที่ต้องการอีก ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้ บ่อยครั้งไม่สามารถปรับค่าต่างๆ ของกล้อง ทางออกก็จึงต้องใช้วิธีแก้ไขตกแต่งภาพ (Photo Retouching) หลังจากที่การถ่ายทำผ่านไปแล้ว
ช่างภาพมือใหม่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการตกแต่งภาพนัก เช่นเดียวกับช่างภาพสายบริสุทธิ์มักจะปฏิเสธการตกแต่งภาพ แต่อย่างไรเสียช่างภาพมืออาชีพส่วนใหญ่ก็นิยมการตกแต่งภาพ ไม่ว่าจะแก้ไขภาพเล็กๆ น้อยๆ เช่นแก้ความสว่างหรือความมืดโดยรวมของภาพ จนถึงการแก้ไขอย่างละเอียดอ่อน อย่างเช่นแก้ผิวสีของแบบ เพิ่มแสงบางส่วนของภาพ การลบวัตถุบางส่วนออกจากภาพ ฯลฯ
การครอบตัดรูป (Cropping) ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำกันเป็นประจำ คำแนะนำสำหรับการครอบตัดภาพบุคคล คือหากจะตัดส่วนที่คิดว่าเป็นส่วนเกินของภาพ เช่น แขนก็ให้ตัดประมาณครึ่งแขนบนจะทำให้ได้สัดส่วนภาพที่ดี ให้หลีกเลี่ยงการตัดนิ้ว รองเท้า ผมส่วนบนเหนือศีรษะในกรณีที่เห็นผมส่วนอื่นในภาพได้เต็ม
สำหรับโปรแกรมที่นิยมใช้ในการตกแต่งภาพคือ Instasize Adobe Photoshop และ Lightroom
Instasize เหมาะสำหรับการใช้งานบนมือถือ ได้ทั้งระบบ iOS และระบบ Android นอกจากใช้ในการครอบตัดภาพ และย่อขยายขนาดภาพ ยังสามารถใช้ลบรอยตำหนิเล็กๆ น้อยๆ ใส่ฟิวเตอร์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ภาพดูดีขึ้นแปลกตาขึ้น ในขณะที่ Adobe Photoshop และ Lightroom เหมาะสำหรับการทำงานของมืออาชีพและการใช้งานบนคอมพิวเตอร์เป็นหลัก
บทสรุป
สิ่งที่พึงระลึกเสมอว่าไม่มีสูตรสำเร็จ หรือขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบในการถ่ายภาพบุคคลให้ประสบความสำเร็จ การถ่ายภาพบุคคลจะแตกต่างกันไปจากภาพหนึ่งไปอีกภาพหนึ่ง เป็นขบวนการความคิดสร้างสรรค์ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะและเทคนิคการจับอารมณ์และกิริยาท่าทางของตัวแบบลงในภาพแต่ละภาพ
|