
Animals > page 2 | ||
เคล็ดลับในการถ่ายภาพสัตว์การถ่ายภาพสัตว์ ช่างภาพควรมีกล้องและอุปกรณ์ให้เพียงพอจึงจะสามารถถ่ายภาพที่ต้องการได้ดี มีกล้องที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ หน่วยรับภาพที่ใหญ่พอ มีเลนส์ถ่ายภาพระยะไกลอย่างน้อยหนึ่งตัว การถ่ายภาพสัตว์ที่จะประสบความสำเร็จต้องผ่านการฝึกฝนเป็นระยะเวลาหนึ่ง เรียนรู้อุปนิสัยของสัตว์ต่างๆ ฝึกการมองภาพก่อนหยิบกล้อง ฝึกการตั้งกล้องให้ชำนาญ ฝึกการตัดสินใจโดยฉับพลันในการลั่นชัตเตอร์เมื่อพบจังหวะท่วงท่าดีๆ ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับบางประการในการถ่ายภาพเกี่ยวกับสัตว์
เข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ที่เราจะถ่ายการเรียนรู้ว่าสัตว์ที่เราจะถ่ายว่ามีอุปนิสัยอย่างไร ทำให้เราคาดเดาพฤติกรรมล่วงหน้าของมันได้และสามารถเตรียมแผนการบันทึกภาพไว้ก่อน หากเป็นสัตว์เลี้ยงก็ควรเรียนรู้ว่ามันชอบอะไรไม่ชอบอะไร มีวิธีล่อหลอกอย่างไร หากเป็นสัตว์ป่าก็ต้องเรียนรู้ว่ามันจะไปไหนเวลาไหน มีเส้นทางอย่างไร มีจุดพักที่ไหน มักทำท่าทางอย่างไรเช่นตอนกินน้ำที่ริมสายน้ำ ตอนมีศัตรูเข้าใกล้ ตอนรวมฝูง
จัดสถานที่หากเราสามารถจัดฉากที่จะทำการถ่ายทำได้ ก็ตรวจดูว่าภายในสถานที่มีอะไรระเกะระกะทำให้ภาพออกมาดูรกรุงรังหรือแย่งความสนใจจากแบบได้ ในขณะเดียวกันก็ดูว่าจะเพิ่มของประดับฉากอะไรบ้าง เช่นหมอน ลูกบอล ถาดอาหาร ฯลฯ หากเป็นการภาพสัตว์ป่า ก็อาจมีการตกแต่งกิ่งไม้ ดัดกิ่งไม้ที่อาจกั้นระหว่างกล้องกับสัตว์ ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นพึงศึกษาให้ดีว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เพราะสัตว์บางชนิดที่ไวต่อกลิ่นมาก หากรู้ว่ามีคนเคยมาอยู่ในสถานที่นั้น มันก็อาจไม่เข้ามาในจุดที่เตรียมไว้
เลือกหาแสงที่ใช่การถ่ายภาพสัตว์ก็เหมือนการถ่ายแบบทั่วไป หากอาศัยแสงธรรมชาติก็ต้องเลือกเวลาที่แสงมีทิศเฉียงและไม่แรงกล้ามาก หากวันใดท้องฟ้ามีเมฆมากถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสามารถใช้เวลาถ่ายภาพได้นาน การใช้ไฟแฟลชส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่สัตว์ไม่คุ้นเคย อาจทำให้มันกลัว วิ่งหนี หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปไม่ให้ความร่วมมือ
ถ่ายในมุมมองของแบบการถ่ายด้วยการถือกล้องในท่ายืนแล้วกดกล้องลงก็จะได้ภาพในมุมมองของช่างภาพ ซึ่งภาพมักจะไม่ค่อยสวย เนื่องจากความสูงของสัตว์ไม่เท่ากับช่างภาพ สิ่งที่ช่างภาพควรทำคือลดระดับกล้องให้อยู่ในระดับแนวเดียวกับสายตาของแบบ สัตว์ที่ตัวเล็กมากเช่นแมว ช่างภาพอาจต้องตั้งกล้องเกือบถึงระดับพื้น เพื่อให้เสมอกับสายตาของมัน ในทางกลับกันถ้ามันอยู่บนต้นไม้ ก็ต้องหากระไดปีนขึ้นไปถ่าย การถ่ายภาพนกก็เช่นกัน ภาพที่ถ่ายระนาบเดียวกับที่มันเกาะอยู่บนกิ่งไม้จะดูดีกว่าภาพที่ถ่ายแบบเงยกล้องขึ้น
โฟกัสไปที่ดวงตาและการแสดงท่าทางของใบหน้าสายตาเป็นจุดที่หน้าประทับใจที่สุดบนใบหน้าของสัตว์ การถ่ายจึงพยายามจับจ้องไปที่ดวงตาของแบบและท่าทางของใบหน้า ดูจังหวะที่ให้อารมณ์ที่ดูดีหรือดูแปลกตาจึงทำการลั่นชัตเตอร์ การตั้งโฟกัสหากถ่ายระยะใกล้ ตัวแบบกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพก็ให้โฟกัสที่ลูกนัยน์ตา หากถ่ายระยะไกลก็ให้โฟกัสที่ใบหน้า
ช่างภาพมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการถ่ายภาพสัตว์ สัตว์บางตัวก็อยู่นิ่งค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถ ในขณะที่บางตัวซุกซน ไม่ยอมอยู่นิ่ง ถ้าเราใช้เลนส์ถ่ายภาพปกติหรือเลนส์ถ่ายภาพมุมกว้าง เราต้องอยู่ใกล้กับแบบเพียงพอจึงจะได้ขนาดของแบบในภาพใหญ่พอ ช่างภาพต้องมีความพร้อมที่จะขยับตัว ก้มๆ เงยๆ หมอบลงกับพื้น ย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เพื่อหาจุดที่จะได้ภาพที่มีองค์ประกอบที่ดี ในขณะที่การใช้เลนส์ถ่ายภาพระยะไกลโดยส่วนใหญ่ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายมากนัก อย่างมากก็ขยับไปไม่ได้ไกลเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางและจังหวะท่วงท่าของแบบไม่รอให้ถ่าย ช่างภาพจึงต้องมีความคล่องตัวและพร้อมที่การปรับเปลี่ยนวิธีการตามสถานการณ์
ให้รางวัลแก่แบบสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ก็ต้องการสิ่งจูงใจให้อยู่ในพื้นที่และมีใจทำท่าทางต่างๆ ไม่เช่นนั้นมันอาจจะเดินหนีไปหรือไม่ก็ทำตัวเนือยๆ เพื่อสร้างแรงกระตุ้น ช่างภาพควรเตรียมสิ่งล่อหลอกให้แบบตลอดระยะเวลาการถ่ายทำ สำหรับสุนัขอาจเป็นของขบเคี้ยว ของเล่น หรืออาจแสดงความรักกับมัน สำหรับแมว ลองใช้ของเล่นที่เป็นขนๆ ถุงกระดาษ ปลาทูน่า ผ้าผืน ฯลฯ ในการถ่ายสัตว์ป่า สิ่งเหล่านี้อาจทำได้ยากเพราะจะเป็นการเบี่ยงเบนวิถีชีวิตของมัน อาหารที่ให้ไปอาจทำให้มันไม่สบายได้ และสัตว์บางชนิดอาจทำร้ายเราได้ถ้าเข้าใกล้เกินไป
วางแผนสร้างแนวคิดล่วงหน้าจะเป็นการดีถ้าช่างภาพจะมีการวางแนวการถ่ายภาพสัตว์โดยเฉพาะภาพสัตว์เลี้ยงไว้ล่วงหน้าก่อนการถ่ายทำ ลองกำหนดหัวเรื่อง แล้วออกแบบท่าทางคร่าว เช่น ให้น้องหมามองไปที่ประตูรอนายหญิงกลับบ้าน หรือจะให้น้องแมวมองไปที่เจ้าของถือถุงเตรียมให้อาหารแก่มัน หากเป็นสัตว์ป่า เช่น เตรียมดูจังหวะที่แม่นำอาหารมาป้อนลูกน้อยที่รังของมัน หากเรามีแผนการแล้ว เราจะได้เตรียมฉาก มุมกล้องและจังหวะที่จะถ่ายไว้ ถึงเวลาถ่ายจริงก็จะมีเป้าหมายในการดำเนินการ นอกจากจะถ่ายตามที่วางแนวไว้แล้วก็สามารถถ่ายเสริมในท่วงท่าต่างๆ ได้
อดทน เคลื่อนไหวช้าๆการที่เราไปเที่ยวแล้วสามารถถ่ายภาพสัตว์ที่ดูน่าประทับใจระหว่างการเดินทางก็ถือเป็นสิ่งที่โชคดีมาก ในการถ่ายภาพสัตว์อย่างมืออาชีพต้องอาศัยความอดทน การอยู่ประจำตำแหน่ง นั่งเฝ้ารอเวลา รอแสง รอการมา การถ่ายทำมีทั้งร่วมเล่นกับมัน ก้มๆ เงยๆ เปลี่ยนมุมกล้อง กับอีกด้านหนึ่งช่างภาพต้องวางตัวอย่างเงียบเชียบ ขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้แบบของเราตื่น หรือรู้ว่ามีใครจ้องมองอยู่ การจะย้ายที่เปลี่ยนมุมกล้องก็ต้องทำอย่างช้าๆ ไม่ให้ผิดสังเกต
อ้างอิง : https://www.travelandleisure.com/photography/animal-photography-tips https://digital-photography-school.com/top-10-pet-photography-tips-techniques/
|